วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผบ.ทบ.จี้ให้จับขบวนการล้มรัฐบาล

เสื้อแดงเลื่อนชุมนุม
จี้ตำรวจ จับขบวนการล้ม “รัฐบาล-กองทัพ” ขั้นเด็ดขาด เหตุปล่อยไว้นานความขัดแย้งไม่จบ “ผบ.ทอ.” เผย ผบ.เหล่าทัพ ติดตามสถานการณ์ เชื่อไม่มีอะไรน่าห่วง วอนประชาชนใช้วิจารณญาณก่อนตัดสิน ด้าน “เทพเทือก” ไม่หวั่น ม็อบเสื้อแดงเลื่อนชุมนุมเร็วขึ้น ยันทุกอย่างทำตาม ก.ม.ใครฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดี “ชวน” ปลอบ “มาร์ค” ไม่ต้องเป็นทุกข์ โดน “ทักษิณ” โฟนอินโจมตี ระบุ ป.ป.ช.ชี้มูล 7 ผู้ต้องหาสลาย “7 ตุลา” เป็นไปตามกระบวนการ วอร์รูมปชป.วิเคราะห์การเมืองมุ่งล้มรบ.-ดึง “แม้ว” พ้นผิด ด้าน 140 ส.ส.เพื่อไทย เข้าชื่อประธานวุฒิ เตรียมส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเอาผิด ป.ป.ช.ตาม ม.157 “เชาวริน” เผยอยู่ร่วมที่ประชุมครม.สมชายนัดพิเศษ ยันไม่มีการสั่งสลายม็อบ พร้อมเป็นพยานให้ลูกพี่เก่า “เสื้อแดง” ดีเดย์ชุมนุมใหญ่ เลื่อนวันเร็วขึ้น ส่วนคนสนิท “สมชาย” เผยนายเตรียมแถลงแก้ข้อกล่าวหา ขณะที่ ผบ.ตร.ย้ำ เหตุสลายม็อบทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทย ถึงขั้นแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน กรณี “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ทำท่าจะปะทุขึ้นมาอีกรอบ ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีคำสั่งแจ้งข้อกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ รวมทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีก 5 นาย คดีสั่งสลายม็อบหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 โดยนายตำรวจทั้ง 5 โดนฐานผิดวินัยด้วย ความผิดมากน้อยแตกต่างกันไป ขณะที่ม็อบเสื้อแดงยังคงตามราวีรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่เลิก ล่าสุดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เจอฤทธิ์ “ปาไข่” ขณะไปปฏิบัติหน้าที่ที่ จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่จับกุมมือดีไว้ได้ 4 คน ศาลสั่งจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 1,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี ความคืบหน้า ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 08.00 น. วันที่ 17 มี.ค. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงจะเลื่อนการชุมนุมให้ใกล้เข้ามา เหมือนกับที่รัฐบาลเลื่อนวันอภิปรายในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เร็วขึ้นว่า ไม่เป็นปัญหา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เมื่อถามว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เกาะติดการอภิปรายฯ อาจจะลุกลามเป็นแนวร่วมใหญ่ขึ้นมา โดยมี รมว.มหาดไทย ออกมาสำทับว่าจะจัดเป็นโซนนิ่ง นายสุเทพ กล่าวว่า ขอให้พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนช่วยจับตาดู ตนไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ความเห็นอะไรมาก เพราะไม่ต้องการให้ไปตีความว่าเป็นการยั่วยุ นายสุเทพ กล่าวถึงปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ลุกลามมากขึ้น รวมถึงการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เขามีเป้าหมายชัดเจน คือต้องการให้บ้านเมืองยุ่งเหยิง วุ่นวาย เพื่อปูทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับประเทศ แต่ตนไม่หนักใจ เพียงรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศกระทบกระเทือน และเป็นช่วงเวลาที่เราต้องการให้ชาวโลกได้เห็นว่าเรามีพื้นฐานทางวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็ง แต่คนเหล่านี้พยายามทำลายภาพลักษณ์ดี ๆ ไป ผู้สื่อข่าวถามว่า มีนักวิชาการ และสื่อมวลชนเตือนว่าการ “โฟนอิน” จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาล แต่รัฐบาลเลี่ยงที่จะพูดถึง นายสุเทพ กล่าวว่าทุกฝ่ายมีสิทธิแสดงความคิดเห็น เราก็ติดตามสถานการณ์ต่อไป ตนมีหน้าที่แก้ปัญหา เมื่อถามย้ำว่า มีการประเมินหรือไม่ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ จะกลับเข้ามาด้วยวิธีใด นายสุเทพ กล่าวว่า “ผมไม่ทราบ” ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลมีแนวคิดจะนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในกลับมาใช้ควบคุมการชุมนุมในลักษณะกำหนดโซนนิ่งจริงหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มี ตนเพิ่งจะได้ยินจากสื่อมวลชนที่ถาม เรื่องนี้ยังไม่ได้คุยกับนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย แต่อย่างใด เมื่อถามย้ำว่าการจัดโซนนิ่งมีความเป็นไปได้หรือไม่ รองนายกฯ ดูแลฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ฝ่ายที่ก่อปัญหายังไม่วิจารณ์แล้วเราจะไปวิจารณ์ฝ่ายเดียวทำไม ผู้สื่อข่าวถามว่านักวิชาการมองว่าอาจจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน นายสุเทพ กล่าวว่า จุดยืนของตนกับนายกฯ และคนในรัฐบาล เคารพการแสดงออกของประชาชน แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่ฝ่าฝืน มิฉะนั้นเราจะต้องดำเนินการ นายสุเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อกล่าวหากับอดีตนักการเมือง และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย ที่เป็นคนสั่งสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่า เรื่องนี้จะคลี่คลายอย่างไรต้องไปถามคนอื่น ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ อีกทั้ง ป.ป.ช.ก็เป็นองค์กรอิสระ ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่เมื่อ ป.ป.ช. มีคำสั่งออกมา ทางผู้ถูกกล่าวหากลับยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ นายสุเทพ กล่าวว่า ถูกต้อง ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อ ป.ป.ช.ตั้งข้อหา ก็ต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง เมื่อจบกระบวนการ ป.ป.ช.ก็ดำเนินการในชั้นศาลต่อไป “ผมยืนยันว่า ผมไม่มีหน้าที่ต้องไป โอบอุ้มใคร เพราะผมทำตามกฎหมาย” ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการโฟนอินโจมตีรัฐบาลอย่างหนักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เป็นเรื่องธรรมดา เป็นรัฐบาลต้องมีอุปสรรค บ้าง ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะเรารู้เป้าหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าต้องการช่วยหาเสียง ส่วนกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อหาเอาผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และนายตำรวจอีก 4 นาย กรณีมีคำสั่งสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่า ต้องถือเป็นอำนาจของฝ่ายผู้ตรวจสอบ และเป็น สิทธิของอีกฝ่ายที่จะแก้ตัว ชี้แจง หรือสู้ข้อ กล่าวหา อยู่ที่หลักฐานของแต่ละฝ่ายจะนำมายันกัน ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งข้อกล่าวหาผู้สั่งการอ่อนไปนั้น ตนไม่ทราบเพราะยังไม่เห็นสำนวน ดูเพียงข่าวที่ออกมาเท่านั้น พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. กล่าวถึงกรณีที่มีความพยายามของขบวนการล้มรัฐบาล และกองทัพ ตามแผน “ตากสิน” ว่า กองทัพเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการกระทำนอกเหนือกฎหมาย ผู้รักษากฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด หากปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการจริงจัง จะมีข้อขัดแย้งเพิ่มขึ้นไม่จบ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล จากสื่อ และเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น อะไรที่ไม่เป็นความจริง ประชาชนมีความรู้ความคิด แยกแยะได้ สิ่งไหนดี ไม่ดี และควรเชื่อถือหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามสถานการณ์ หากเห็นว่ามีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง ก็จะประชุมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่ขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าห่วง ส่วนกรณี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่ารู้สึกผิดหวังที่แต่งตั้ง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็น ผบ.ทอ.นั้น ตนไม่มีข้อคิดเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ คิดในส่วนของท่านเมื่อนึกถึงใครได้ คิดว่าเป็นความพยายามพูดไปเรื่อย ๆ แต่คนฟังควรใช้วิจารณญาณว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคฯ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานปฏิบัติการทางการเมือง (วอร์รูม) พรรคประชาธิปัตย์ ประเมินสถานการณ์ของประเทศ เพื่อเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมพรรคในบ่ายวันเดียวกัน โดยวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่าไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีการเคลื่อนไหวไม่ปกติ ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่สร้างเงื่อนไขเพื่อข้อบรรลุ 2 อย่าง คือ 1.สร้างอำนาจต่อรองเพื่อนำสู่การให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากความผิดในอดีต เช่น แก้กฎหมายนิรโทษกรรม หรือขอพระราชทานอภัยโทษ และ 2.เพื่อล้มรัฐบาล ทั้งนี้ในวันที่ 18 มี.ค. ทีมวอร์รูมจะร่วมประชุมกับคณะทำงานวิปรัฐบาล เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลรับรู้ถึงการประเมินสถานการณ์ดังกล่าว และเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเป็นห่วงว่าการอภิปรายจะเป็นแบบเก่า บิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้คนไม่เชื่อมั่นว่าเวทีสภาจะเป็นทางออกของประเทศได้ อีกด้านหนึ่ง ที่พรรคเพื่อไทย ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน และพ.ต.ท. สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรค เพื่อไทย ร่วมกันแถลงยืนยันว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หน้ารัฐสภา โดยร.ต.ท.เชาวริน กล่าวว่าในการประชุมครม.นัดพิเศษ คืนวันที่ 6 ต.ค. 2551 ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ตนและพ.ต.ท.สมชาย พร้อมด้วย พล.ต.ศรชัย มนตริวัตร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในขณะนั้น เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมตามคำเชิญของนายสมชายด้วย ที่ประชุมไม่มีการสั่งการ ใด ๆ ให้สลายการชุมนุม เนื้อหาส่วนใหญ่พูดคุยถึงการย้ายสถานที่ประชุมสภา เพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลในเช้าวันที่ 7 ต.ค. โดยได้สอบถามไปยังนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา แต่นายชัยตอบ กลับมาว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลต้องแถลงที่สภาเท่านั้น ย้ายสถานที่ประชุมไม่ได้ ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวต่อว่า หลังประชุม ครม.นัดพิเศษเสร็จสิ้น ตนและพ.ต.ท.สมชาย ติดตาม พล.อ.ชวลิต ไปที่บช.น.เพื่อตรวจดูความพร้อม และหารือกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ยืนยันว่าพล.อ.ชวลิต ไม่ได้สั่งการใด ๆ ให้ตำรวจสลายการชุมนุมเช่นกัน มีเพียงกำชับให้ตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยเท่านั้น ดังนั้นการที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสมชาย และพล.อ.ชวลิต จึงเป็นการปฏิบัติมิชอบ พวกตนพร้อมเป็นพยานให้นายสมชาย และพล.อ. ชวลิต ส่วนที่บอกว่าตำรวจสลายการชุมนุมแล้วมีคนเสียชีวิต เป็นการบิดเบือนข้อมูลเพราะสถานที่ที่ทั้งสองคนเสียชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่หน้ารัฐสภาแต่อย่างใด “ดังนั้นพวกผม พร้อมส.ส.ของพรรค 140 คน จะได้เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาอีกครั้ง ในวันที่ 18 มี.ค.นี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 249 เพื่อให้ดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อ พิจารณาความผิด ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ในความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง และมีส่วนสำคัญในการทำลายระบอบประชาธิปไตย จะปล่อยไว้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 125 ยืนยันว่าไม่ใช่การแก้แค้น หรือเอาคืน ป.ป.ช. หลังชี้มูลความผิด” ร.ต.ท.เชาวริน ย้ำ ขณะที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย คนสนิทนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวว่านายสมชายทราบเรื่องถูกป.ป.ช. แจ้งข้อหาแล้วจากสื่อมวลชน แต่ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามหากได้รับแจ้งเป็นทางการ นายสมชายจะเปิดแถลงข่าวอีกครั้ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า เมื่อมีการเปลี่ยนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ กลุ่มเสื้อแดงอาจจะเลื่อนการชุมนุมขึ้นมาอีก แต่ยืนยันว่าจะไม่ไปชุมนุมตรงกับวันที่อภิปรายอย่างแน่นอน อีกทั้งในวันที่ 21 และ 22 มี.ค.นี้จะมีการชุมนุมที่ จ.เชียงราย และเชียงใหม่ ดังนั้นการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่จะขยับเลื่อนขึ้นมาหลังวันที่ 22 มี.ค. จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าวันที่ 29 มี.ค. โดยจะเริ่มต้นชุมนุมที่ท้องสนามหลวง แล้วเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล ปิดถนนราชดำเนินทั้งสองทาง ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ จะโฟนอินในการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ ต้องรอดูเหตุการณ์อีกระยะหนึ่ง ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โฟนอินบ่อยครั้งในระยะหลัง เป็นการประกาศตัวออกมาสู้กับรัฐบาลอย่างชัดเจน ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. กล่าวภายหลังปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ยาเสพติด ที่ จ.เชียงราย กรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลมีความผิดทางวินัยในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย และปฏิบัติไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ตนมั่นใจว่าชี้แจงได้ทุกเรื่อง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายยังคงมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำคำสั่งที่ลงนามผู้บังคับบัญชาไปชี้แจงด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า เป็นเรื่องของกฎหมาย ตำรวจทุกคนทำตามหน้าที่ เมื่อถามย้ำว่า คำสั่งดังกล่าวลงนามลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่ารวบรวมรายละเอียดไว้ทั้งหมด รวมถึงภาพเหตุการณ์ด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า การพิจารณาของ ป.ป.ช.อิงผลสอบของคณะกรรมการฯชุดก่อนหน้านี้หรือไม่ พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่าไม่ทราบ ขณะนี้ตนได้ให้ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร. รวบรวมเหตุการณ์ทั้งหมด ส่วนการดูแลการชุมนุมครั้งต่อไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายใช้การเจรจา อดทนอดกลั้นมาโดยตลอด ห้ามเกิดการปะทะ และไม่ให้ใช้ความรุนแรง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เราไม่ได้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต้องเข้าใจว่าทุกองค์กรมีหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่พอใจ ป.ป.ช.ที่แจ้ง ข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องทำตามกฎหมาย ที่ กก.2 บก.ตปพ. (ป้องกันและปราบปรามจลาจล-ปจ.) สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น. พร้อมด้วย รอง ผบช.น.เป็นประธานเปิดพิธีอบรมทางการควบคุมฝูงชน เพื่อซักซ้อมความพร้อม ทักษะ และความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ มีกำลังพลของ บก.น. 2, 3, 4, 5, 6 และ ตปพ.รวม 7 กองร้อย เข้าร่วมฝึก จากนั้น พล.ต.ท.วรพงษ์ กล่าวว่า การฝึกปจ.ในครั้งนี้ เพื่อซักซ้อมการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ส่วนที่มีนายตำรวจระดับรอง ผบช.น.บางนายถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนั้น คงจะได้มีการประชุมกันอีกครั้งว่าจะยังคงให้ทำหน้าที่ดูแลเหตุการณ์หรือไม่ คงแล้วแต่ความสมัครใจ ผู้สื่อข่าวถามว่าจะยังใช้แก๊สน้ำตาอีกหรือไม่ ผบช.น. กล่าวว่า หากจำเป็นจริง ๆ ก็คงไม่ใช้แบบยิง แต่จะใช้แบบขว้าง วันนี้มีการสาธิตใช้แก๊สน้ำตาโยนใส่กลุ่มปจ.ด้วย เพื่อจะได้ทราบถึงอานุภาพว่าเป็นอย่างไร ที่สำนักงาน ป.ป.ช.นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อหานักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คนไปเรียบร้อยแล้ว โดยให้ทุกคนมารับทราบข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 27 และ 30 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะต้องมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน โดย ป.ป.ช.พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน ผู้ถูกกล่าวหาอ้างพยานเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่จำเป็นที่จะต้องแยกสำนวนของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คน ออกเป็นคนละสำนวนแต่อย่างใด และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ระบุไม่มีส่วนรู้เห็นหรือสั่งการในเหตุการณ์สลายม็อบหน้ารัฐสภา เพราะได้ยื่นหนังสือลาออกในวันดังกล่าวแล้วว่า เป็นสิทธิที่อ้างได้ ซึ่งพล.อ.ชวลิตก็ต้องนำพยานหลักฐานมาชี้แจงต่อป.ป.ช.เพื่อต่อสู้คดี แต่ขณะนี้ถือว่า ผู้ถูก กล่าวหาทั้ง 7 คน ยังไม่มีใครมีความผิด เป็นแค่การแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น หากหลักฐานที่ ทุกคนนำมาชี้แจงมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือเพียงพอ ป.ป.ช.ก็อาจจะยกคำร้องได้ ทั้งนี้ระบุไม่ได้ว่า จะใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะชี้มูลความผิดได้ ขึ้นอยู่กับผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างพยานหลักฐานต่อสู้คดีมากน้อยเพียงใด แต่ ป.ป.ช.จะเร่งทำคดีโดยเร็ว เพราะถ้าคดีเสร็จช้า ก็จะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา สำหรับผู้ถูก ป.ป.ช.แจ้งข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ 2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ผิดกฎหมายอาญา 3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. 4.พล.ต.อ. วิโรจน์ พหลเวชช์ รอง ผบ.ตร. ผิดวินัย 5.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ตำแหน่งในขณะนั้น) 6.พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รอง ผบช.น. และ7.พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น. ผิดทั้งวินัย และอาญา.

ไม่มีความคิดเห็น: