วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พรุ่งนี้น้ำขึ้นสูงอีก กทม.เตือนคนนอกคันอพยพ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ โดยระดับน้ำในคลองเปรมประชากร ช่วง สน.ดอนเมือง ขณะนี้ถึงริมตลิ่งแล้ว ในส่วนพื้นที่ที่ยังเป็นจุดอ่อนจะอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ช่วงคลองทวีวัฒนา และฝั่งตะวันออกในพื้นที่ 7 เขตเสี่ยงน้ำท่วม ส่วนพื้นที่จุดอ่อนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่วันนี้มีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนสูง กรุงเทพมหานครก็ยังคงเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ พื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ระดับน้ำทะเล จะหนุนสูงสุดในวันพรุ่งนี้เวลา 16.00 น.
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ 13 เขต รวมทั้งหมด 1,200 ครัวเรือน หากวันพรุ่งนี้น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ขอให้ย้ายไปที่ศูนย์พักพิงที่กรุงเทพมหานครจัดไว้ให้

ข้อมูล/แหล่งที่มา

- www.sanook.com

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รังสิตวันนี้ น้ำยังสูงขึ้นไม่หยุด บางกะดีจมตาม !!



น้ำทะลักเข้าตลาดรังสิต นิคมอุตสาหกรรมบางกะดีอ่วม
บรรยากาศ บริเวณตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ ล่าสุด น้ำได้ทะลักท่วมเต็มพื้นที่ สูงกว่า 1 เมตรแล้ว ชาวบ้านต้องใช้เรือในการสัญจรไปมา
ขณะที่บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำบริเวณนี้ ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเข้ามารื้อคันกั้นน้ำ ริมคลองด้านท้ายตลาดรังสิต
ทางด้านนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมฯ ท่วมแล้ว 100% น้ำสูงร่วม 2 เมตร มีพนักงานติดค้างรอการอพยพ โดยผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี โดยล่าสุดบริเวณที่ติดกับคลองเปรมประชากร มีแนวคันกั้นน้ำบางส่วนพัง ทำให้น้ำไหลล้นเข้ามาท่วมภายในนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่และพนักงานกว่า 200 คนได้เร่งกู้คืนคันกั้นน้ำดังกล่าว แต่กระแสน้ำมีความแรงมาก ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องล่าสุด นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมฯ น้ำได้ไหลเข้าท่วมแล้ว 100% ระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร นอกจากนี้ยังมีพนักงานและผู้บริหารติดค้างติดค้างรอการอพยพเป็นจำนวนมาก


ข้อมูล/แหล่งที่มา



วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กทม.สั่งอพยพแล้ว! กว่า 200 ครัวเรือน ริมคลองหกวา น้ำเพิ่มสูง

ผู้ว่าฯกทม. สั่งอพยพประชาชน กว่า 200 ครัวเรือน ที่อยู่ริมคลองหกวา โดยเตรียมสถานที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 และโรงเรียนสายไหม รองรับ เหตุระดับน้ำในพื้นที่เพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เกรงไม่ปลอดภัย ขณะที่นายกฯเรียกผู้ว่าถกสถานการณ์น้ำท่วมด่วน ที่ดอนเมือง...วันที่ 19 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ​ผู้ว่ากทม. ได้สั่งอพยพประชาชนที่อยู่ริมคลองหกวา โดยเตรียมสถานที่โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 และโรงเรียนสายไหมซึ่งรองรับ กว่า 1,000 คน ส่วนความคืบหน้าเสริมแนวคันกั้นน้ำชั่วคราว ระยะทาง 6 กม. ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องเสริมความกว้างของแนวเป็น 3 แถว และเพิ่มความสูง 1 เมตร เป็น 3.50 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง สำหรับปริมาณน้ำในคลองหกวา เพิ่มขึ้นอีก 1 ซม. เทียบจากวานนี้

ขณะเดียวกันได้สั่งการผู้อำนวยเขตสายไหม ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำ อพยพออกจากบริเวณเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และยืนยันว่า น้ำที่จะเข้ามาในกรุงเทพมหานคร จะแตกต่างกับต่างจังหวัด เนื่องจากสถานที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ กทม. สามารถประเมินสถานการณ์ได้ล่วงหน้า ตัวเลขผู้อพยพกว่า 200 กว่าครัวเรือน ทั้งหมดอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำอย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เรียก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. เข้าหารือสถานการณ์ และแนวทางการป้องกันน้ำท่วม กทม. ที่ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือน้ำท่วม ศปภ. ที่ดอนเมือง เป็นการเร่งด่วนแล้ว

ข้อมูล/แหล่งที่มา

www.thairath.co.th

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จุดเฝ้าระวัง ! ป้องกันน้ำเข้าบ้านคุณ



อุทกภัยถือเป็นภัยพิบัติประจำชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกปี ทุกรัฐบาลล้วนแต่ประสบปัญหาในการวางมาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว รวมไปถึงการควบคุสถานการณ์ ในปีนี้ พ.ศ. 2554 สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดกระจายไปแล้วถึง 59 จังหวัด มีประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 250 คน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมายอมรับว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี ถึงแม้หน่วยงานทั้งทางภาครัฐและเอกชน จะเตรียมรับและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเหมือนกับทุกปี แต่ก็ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ ประชาชน ในทุกพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อความเข้าใจของประชาชนเอง เราลองมาดูเส้นทางการเดินทางของน้ำเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝัน เราควรป้องกันอย่างไร

ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับการรักษาความปลอดภัย ในสถานการณ์น้ำท่วม

- อย่า ขับรถ, เดิน, ว่ายน้ำ หรือขับขี่จักรยานยนต์ลุยน้ำท่วม เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตขณะที่เกิดนำ้ท่วม เพราะน้ำอาจลึกและไหลเร็วกว่าที่เห็น และอาจมีเศษหิน เศษปูนจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงพื้นผิวถนนที่จมอยู่อาจถูกชะหายไปแล้วก็เป็นได้

- ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ กระแสไฟฟ้าอาจวิ่งผ่านน้ำได้เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้ง

- จดบันทึกรายการสิ่งของของเราให้ครบ วางสิ่งของเครื่องใช้บนโต๊ะ หรือตู้ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เก็บไว้บนที่สูง

- มัดสิ่งของที่คิดว่ามันสามารถลอยไปตามน้ำ และก่อให้เกิดอันตรายให้แน่นๆ

- ย้ายถังสำหรับใส่สิ่งปฏิกูลต่างๆ รวมถึงสารเคมีและสารพิษไปไว้ชั้นบนสุดของบ้าน

- รับฟังข่าวสารจากวิทยุชุมชน หรือสื่อต่างๆ เพื่อทราบข้อมูลใหม่อยู่ตลอดเวลา

- หมั่นติดต่อกับคนรู้จักหรือญาติ

- "น้ำ"สามารถใช้แทนในการทำถุงทรายได้ (เมื่อจำเป็น)

ข้อมูล/แหล่งที่มา

- http://www.thairath.co.th/

- http://www.cendru.net/