วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

การสอบสวนเพลิงไหม้

เหตุไฟไหม้ที่ซานติก้าผับก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของเพลิงไหม้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้นเพลิงอยู่ที่ไหน ทำไมจึงหนีกันไม่ทัน ผู้เชี่ยวชาญด้านผจญเพลิงก็ได้ออกมาอธิบายความโดยใช้หลักวิชา ซึ่งทำให้เรารู้สึกได้เลยว่าคนทั่วไปยังมีความรู้เรื่อง “ไฟ” น้อย ทั้ง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากไฟและได้รับโทษจากไฟกันมาอย่างไม่หยุดหย่อน โดยหลักวิชาแล้ว “ไฟ” คือ เหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและมีผู้ให้คำจำกัดความไปต่าง ๆ นานา ตัวอย่าง เช่น P.J. Thatcher บอกว่าไฟคือ ปฏิกิริยาเคมีของเชื้อเพลิง (ซึ่งอาจอยู่ในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ) ทำให้เกิดความร้อนและแสงอันเนื่องจากปรากฏการณ์ออกซิเดชั่นของเชื้อเพลิงเหล่านี้จากออกซิเจนที่อยู่ในอากาศ พลตำรวจโทอรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ อธิบายไว้ในตำรานิติวิทยาศาสตร์เพื่อการสืบสวนสอบสวน ตอนหนึ่งว่า ทฤษฎีของไฟที่เชื่อกันมากว่า 100 ปีนั้นกล่าวไว้ว่า เพลิงจะลุกไหม้ได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ เชื้อเพลิง (Fuel) ออกซิเจน (Oxygen) และความร้อน (Heat) โดยจะขาดองค์ประกอบใดไม่ได้ เช่น เวลาจุดเทียนแล้วเมื่อนำแก้วมาครอบเทียนไฟก็จะดับ แสดงถึงขาดออกซิเจน หรือการใช้น้ำราดไปบนกองหนังสือที่ลุกติดไฟ แล้วไฟจะดับนั้นก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของการขาดองค์ประกอบของความร้อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ทฤษฎีของไฟที่ใช้องค์ประกอบทั้งสามอย่างเปลี่ยนแปลงไปโดย National Fire Academy อธิบายเรื่องนี้ในลักษณะของวงจรชีวิตของไฟ ซึ่งประกอบด้วย l ความร้อน
l เชื้อเพลิง l ออกซิเจน l การผสมสัดส่วนและ l การจุดตัวต่อเนื่อง องค์ประกอบดังกล่าวล้วนจำเป็นต่อการเริ่มต้นและ การต่อเนื่องของการลุกไหม้จึงเปลี่ยนจากลักษณะสามเหลี่ยม ของ ไฟ (Fire Triangle) มาเป็น พีระมิดของไฟ (Fire Tetrahedron) ซึ่งจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบ 3 ตัวแรก คือ สามเหลี่ยมของไฟที่เคยเรียนรู้กันมาบวกเข้ากับองค์ประกอบที่เหลือ เมื่อรวมเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นปฏิกิริยาต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่หมุนเวียนของไฟที่รู้จักกันดีว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) ดังนั้นในวงจรชีวิตของไฟนั้นจะประกอบด้วยรูปร่างใหม่คือ Tetrahedron ซึ่งแต่ละด้านจะมีความร้อนเชื้อเพลิง ออกซิเจน และปฏิกิริยาลูกโซ่เป็นองค์ประกอบ (ดูภาพประกอบ) จากทฤษฎีของไฟนี้ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานและนักนิติวิทยาศาสตร์ต้องผ่านการฝึกอบรมอีกหลายขั้นตอน ก่อนจะประยุกต์ความรู้ทางทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่การตรวจสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ การตรวจสอบอย่างเป็นระบบ การปะติดปะต่อเหตุการณ์ในคดีเพลิงไหม้ ซึ่งมักจะทำได้ยากกว่าคดีอื่น ๆ เนื่องจากมีการใช้น้ำดับเพลิง ทำให้ทรัพย์สินสิ่งของที่วางอยู่เคลื่อนย้ายไปจากตำแหน่งเดิมหรือบางครั้งต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ เพื่อค้นหาไฟที่ยัง ดับไม่สนิท ผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จึงต้องมีคุณสมบัติที่เป็นคนช่างสังเกต มีความเข้าใจในธรรมชาติของไฟเป็นอย่างดี พยายามอ่านพยานวัตถุทุกชิ้นในที่เกิดเหตุ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การตรวจที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบมีขั้นตอนที่ถูกต้อง จึงจะนำไปสู่ความสำเร็จในการบ่งชี้จุดต้นเพลิงและสาเหตุของเพลิงไหม้.

ไม่มีความคิดเห็น: